การวางแผนประกันชีวิตและประกันวินาศภัย
การวางแผนประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงภัย (Risk Management) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) ให้คงอยู่กับเรา
แนวทางการจัดการความเสี่ยงภัยมีหลายวิธีได้แก่
-
การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภัย เช่นกลัวได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ก็หลีกเลี่ยงไม่เดินทางด้วยรถยนต์ แต่คนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยได้ทุกเรื่องเพราะวิถีการดำเนินชีวิต ในยุคปัจจุบันเราคงไม่ขี่ม้าไปทำงานแทนนั่งรถยนต์เป็นแน่
-
การลดความเสี่ยงภัย เช่นกลัวได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ก็ลดความเสี่ยงโดยการขับรถอย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ ไม่ขับรถในขณะที่ง่วงนอนหรืออ่อนเพลีย เป็นต้น
-
การยอมรับความเสี่ยงภัยไว้เอง เป็นการยอมรับความเสียหายที่อาจเกิดจากภัยต่างๆไว้เองทั้งหมดหรือบางส่วน เช่นหากเกิดอุบัติเหตุรถชนก็ยอมรับในการจัดซ่อมเอง โดยผู้ขับขี่ต้องหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุโดยอาจใช้การลดความเสี่ยงภัยประกอบด้วย วิธีนี้เจ้าของรถต้องเตรียมความพร้อมทางการเงินให้เพียงพอเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน
-
การโอนความเสี่ยงภัย เป็นการโอนภัยที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองไปให้ผู้อื่นรับผิดชอบ เช่นโอนให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ หากเกิดอุบัติเหตุรถชนทางบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประกันภัย โดยเจ้าของรถซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพื่อแลกเปลี่ยนกับความคุ้มครอง
ดังนั้นการโอนความเสี่ยงภัยจึงเป็นวิธีที่ทราบค่าใช้จ่ายแน่นอนในการจัดการกับความเสี่ยง
หลังจากที่ได้จัดทำแผนการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยตรงตามความต้องการของผู้รับการวางแผนแล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บริษัท ฟินคีย์ แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด ใช้ประกอบการวางแผนได้แก่ ประกันชีวิต แบบต่างๆที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายของผู้รับการวางแผน เช่น ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาใช้ประกอบแผนประกันหนี้สิน ประกันชีวิตแบบตลอดชีพซึ่งครอบคลุมถึงประกันชีวิตแบบครอบจักรวาล (Universal Life) ใช้ประกอบแผนคุ้มครองรายได้ที่ต้องการยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนเป็นแผนเกษียณอายุได้ในกรมธรรม์ฉบับเดิม ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ใช้ประกอบแผนทุนการศึกษาบุตร ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ใช้ประกอบแผนเกษียณอายุ และประกันชีวิตควบกองทุนรวม (Unit Linked) ใช้ประกอบการวางแผนมรดก เป็นต้น โดยที่ผู้รับการวางแผนสามารถใช้สัญญาเพิ่มเติมต่างๆเพื่อตอบสนองแผนอย่างเฉพาะเจาะจงได้เช่น แผนประกันสุขภาพ แผนประกันอุบัติเหตุ แผนประกันโรคร้ายแรง แผนประกันมะเร็ง แผนประกันทุพพลภาพ ฯลฯ
หมายเหตุ
-
เบี้ยประกันภัย ที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงิน ได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป
กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน 500,000บาท ในปีภาษีเดียวกัน